นโยบายของ นายสหภาพ สุรินทรานนท์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลละเวี้ย ที่ได้แถลงนโยบายต่อสภาองค์การบริการส่วนตำบละเวี้ย เมื่อวันอังคารที่ 11 มกราคม 2565 ได้กำหนดนโยบายการพัฒนา 5 ด้าน ดังนี้
นโยบายที่ 1 ด้านเศรษฐกิจและส่งเสริมคุณภาพชีวิต
1.1 ส่งเสริมเศรษฐกิจของชุมชนในหมู่บ้านให้เข้มแข็ง โดยการสนับสนุนการจัดตั้ง กลุ่มอาชีพ กลุ่มส่งเสริมการผลิตต่างๆ ให้มีทุนในการผลิต การอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานและคุณภาพของสินค้าให้สามารถแข่งขันในตลาดได้
1.2 ส่งเสริมการพัฒนาหมู่บ้านให้เข้มแข็งและน่าอยู่ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและส่งเสริมให้ประชาชนน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักการในการดำรงชีวิต
1.3 ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส ไม่ให้ถูกทอดทิ้ง ให้มีโอกาสและมีรายได้ สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้และมีความสุข
1.4 สร้างความเข้มแข็งให้สถาบันครอบครัว กลุ่มสตรี กลุ่มเยาวชน ให้มีส่วนร่วม ในการพัฒนาสังคมในระดับตำบลและทุกระดับ เพื่อเป็นการบูรณาการในการแก้ไขปัญหาสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
1.5 พัฒนาระบบสาธารณสุขการสร้างหลักประกันสุขภาพระดับตำบลการสาธารณสุขมูลฐาน รวมทั้งการควบคุมและป้องกันโรคติดต่อ
1.6 การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอันอาจเกิดจากาธารณภัยต่างๆ ส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ของอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่าย พลเรือน หน่วยกู้ชีพ รวมทั้งกลุ่มอาสาสมัครอื่นๆ ในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของหมู่บ้านและตำบลเพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้น
1.7 สร้างรั้วป้องกันปัญหายาเสพติดตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดตามนโยบายของรัฐบาล
1.8 จัดการแข่งขันกีฬา กิจกรรมนันทนาการ รวมทั้งส่งเสริมการแข่งขันกีฬา ทุกระดับ เพื่อให้ประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนได้หลีกพ้นยาเสพติด
นโยบายที่ 2 ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค
2.1 ก่อสร้างและปรับปรุงเส้นทางการจราจรเส้นทางเชื่อมระหว่างหมู่บ้านและระหว่างตำบลให้เป็นถนนลาดยางและถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ก่อสร้างและปรับปรุงทางสู่ไร่นาให้เกษตรกร มีความสะดวก ในการเดินทางและสามารถขนพืชผลผลิตทางการเกษตรได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
2.2 พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร โดยสร้างแหล่งน้ำใหม่ทั้งแหล่งน้ำบนดินและแหล่งน้ำใต้ดิน พัฒนาแหล่งน้ำเดิมที่ตื้นเขินให้สามารถกักเก็บน้ำได้เต็มประสิทธิภาพ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้มากขึ้น
2.3 ก่อสร้างและปรับปรุงระบบประปาให้ครบทุกหมู่บ้าน เพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้ อย่างเพียงพอ รวมทั้งปรับปรุงมาตรฐานระบบน้ำสะอาดเพื่อสุขพลานามัยของประชาชน
2.4 ขยายเขตไฟฟ้าแรงต่ำให้ครอบคุลมทั้งตำบล รวมทั้งติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างเพิ่มขึ้นทุกหมู่บ้านเพื่อความสะดวกและปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
2.5 จัดทำผังเมืองชุมชน เพื่อรองรับการขยายตัวของชุมชนให้มีแนวทางที่ชัดเจนเป็นไปอย่างมีระบบ
นโยบายที่ 3 ด้านการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
3.1 พัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับก่อนวัยเรียนให้ได้มาตรฐาน โดยพัฒนาปรับปรุงให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี มีการจัดการเรียนการสอนและอุปกรณ์ที่ดีมีคุณภาพทันสมัย มุ่งเน้นเรื่องสุขภาพอนามัยที่แข็งแรง ได้รับอาหารที่มีโภชนาการครบถ้วนมีพัฒนาการสมวัยมีความพร้อม ที่จะเข้าสู่ระบบโรงเรียน รวมทั้งสนับสนุนการศึกษาของโรงเรียนในเขตตำบลละเวี้ยทุกโรงเรียน
3.2 ส่งเสริมสืบสาน วัฒนธรรมประเพณี วิถีชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งการสนับสนุนกิจกรรม เนื่องในโอกาสสําคัญทางราชการและประเพณีท้องถิ่น
นโยบายที่ 4 ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
4.1 รณรงค์การปลูกจิตสำนึกของเด็กเยาวชนและประชาชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
4.2 ปรับปรุงภูมิทัศน์สองข้างทางรวมทั้งการสร้างสวนสาธารณะเพื่อการพักผ่อนและการออกกำลังกายของประชาชน
4.3 ส่งเสริมการพัฒนาสิ่งแวดล้อมระดับครัวเรือน หมู่บ้านและตำบล รวมทั้งจัดหารถขยะและการกำจัดขยะอย่างถูกต้องตามสุขลักษณะ
นโยบายที่ 5 ด้านการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี
5.1 พัฒนาระบบการบริหารงานขององค์การบริหารส่วนตำบลตามหลักธรรมา ภิบาล โดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้และการยอมรับจากทุกภาคส่วน ถูกต้องตามระเบียบกฎหมายและตามแผนพัฒนาที่กำหนดไว้ นำไปสู่การบริหารงานงบประมาณที่มีประสิทธิภาพ
5.2 ส่งเสริมการจัดทำแผนชุมชน เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานของหมู่บ้าน ตามแผนชุมชน รวมทั้งการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการบริหารงานขององค์การบริหารส่วนตำบล การประชาคมหมู่บ้านและตำบลเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการบริหารงานขององค์การบริหารส่วนตำบล การประชุมประชาคมเพื่อจัดทำแผนพัฒนาขององค์การบริหารส่วนตำบล
5.3 พัฒนาระบบการบริหารงานบุคคลและทรัพยากรบุคคลทั้งฝ่ายการเมืองและ ฝ่ายประจำ ให้มีความรู้ความสามารถที่ทันสมัยและสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล
5.4 พัฒนาระบบการจัดเก็บรายได้ การจัดทำแผนที่ภาษีเพื่อให้สามารถจัดเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาในด้านต่างๆ ขององค์การบริหารส่วนตำบล
5.5 ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการปฏิบัติราชการ รวมทั้งจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ให้เพียงพอในการปฏิบัติงาน
5.6 วางระบบการบริการและลดขั้นตอนการปฏิบัติราชการ ให้สามารถบริการ แก่ประชาชนผู้ใช้บริการได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น